อัญมณีประจำปีขาล

สีน้ำเงินของไพลินนั้นเป็นสีของท้องฟ้ายามค่ำคืนที่แสดงถึง “พลัง” ในการสะท้อนบุคลิกภาพ ความหรูหรา และสง่างาม ทำให้ผู้ที่สวมใส่มีความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย จิตใจผ่องใส มีสติปัญญาดี และช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอัญมณีที่เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ครอบครองจะมีความร่ำรวย เป็นที่รัก มีผู้ศรัทธาเชื่อมั่น มีจิตใจที่สงบและยึดมั่นในความดีงาม ทั้งยังช่วยเสริมโชคลาภเสริมดวงประจำปีขาลหรือปีเสือทองนี้อีกด้วย

“ไพลิน” กับความเชื่อของจีน
“ไพลิน” เป็นอัญมณีแห่งความความโชคดี สติปัญญา โชคลาภ เงินทอง ความเจริญรุ่งเรือง ความอุ่นใจ ความเป็นผู้นำ ความแข็งแกร่งภายในจิตใจ และความมั่นใจในตนเอง ชาวจีนนิยมใช้ไพลินเพื่อขจัดพลังงานด้านลบและความคิดที่ชั่วร้าย นำพาความเป็นมิตรและความสมหวังมาให้ผู้ที่สวมใส่ ตามตำนานจีนได้กล่าวไว้ว่า “ไพลิน” จะช่วยเปิดจิตใจของคุณให้สามารถเชื่อมต่อกับเทพเจ้าได้ ในประเทศจีนมักใช้ไพลินควบคู่กับการฝึกสมาธิทำให้เกิดความสงบทางด้านจิตใจ เนื่องจากไพลินมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยม และทำให้จิตใจของคุณมีความมั่นคง นอกจากนี้ยังเป็นอัญมณีที่เกี่ยวข้องกับคำทำนาย ความฝัน และการหยั่งรู้ถึงอดีตและอนาคต ชาวจีนจึงเรียกไพลินว่า “หินตาที่สาม” และนิยมใช้เพื่อรักษาโรคตาหรือใช้บำบัดดวงตาเพื่อช่วยเรื่องการมองเห็น
“ไพลิน” อัญมณีแห่งสวรรค์
“ไพลิน” มีความแข็งรองมาจากเพชร เป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ว่าเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูงและนำมาใช้ทำเป็นเครื่องรางหรือเครื่องประดับมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานกล่าวว่า “ไพลิน” เป็นสัญลักษณ์ของดินแดนสวรรค์ เป็นอัญมณีของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภยันตรายจากสงครามหรือเหล่าศัตรู ในสมัยอาณาจักรเปอร์เชียโบราณเชื่อกันว่าโลกตั้งอยู่บน “ไพลิน” ขนาดมหึมา เมื่อพระอาทิตย์สาดแสงส่องลงมายังพื้นโลก จึงได้สะท้อนแสงสีน้ำเงินของไพลินกลับขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า ทำให้ผู้ที่สวมใส่ไพลินจะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต เป็นเครื่องรางที่ขจัดปัดเป่าโรคร้าย และความเจ็บป่วย สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ ช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการเดินทาง
เคล็ดลับฉบับ “สายมู”
ตามตำราจักระโบราณ “ไพลิน” มีความเกี่ยวข้องกับจักระที่ห้า ตั้งอยู่ตรงกระดูกต้นคอ ใช้สวมใส่เพื่อเสริมความมั่นใจ ช่วยให้เราพูดในสิ่งที่เราคิดและทำในสิ่งที่เราตั้งใจ กระตุ้นจักระแห่งจิต ช่วยให้คุณตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อความคิดและความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ว่ากันว่าเป็นอัญมณีที่ช่วยเสริมสร้างความซื่อตรงและสติปัญญาของคุณ ช่วยบำบัดอาการทางประสาท รักษาโรคนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ลดความเครียด นอกจากนี้ ไพลินยังเป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และความมั่นคง ทำให้เป็นอัญมณีที่นำไปใช้ทำเป็นแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงาน คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 อีกด้วย
สีหมอกเมฆนิลกาฬ
“ไพลิน” เป็นหนึ่งในอัญมณีมงคล 9 ชนิด หรือที่เรียกว่า “นพเก้า หรือ นพรัตน์” ที่ชาวเอเชียโดยเฉพาะในแถบอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ตลอดจนทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าเป็นอัญมณีมงคล โดยประเทศไทยมีการใช้ “นพรัตน์” สำหรับประดับเครื่องราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และเครื่องประดับของชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีความเชื่อว่านพรัตน์จะช่วยให้ผู้สวมใส่มีสุขภาพที่ดี ร่ำรวย และทำให้ใจสงบ ซึ่ง “สีหมอกเมฆนิลกาฬ” คำว่า “นิลกาฬ” นั้นหมายถึง พลอยไพลิน (Blue Sapphire) นั่นเอง
“ไพลิน” ในด้านอัญมณีศาสตร์
ไพลิน (Blue Sapphire) เป็นอัญมณีในแร่ตระกูล Corundum (คอรันดัม) มีสีน้ำเงิน ที่เกิดจากธาตุเหล็ก (Iron) และไทเทเนียม (Titanium) สูตรเคมีคือ อะลูมิเนียม ออกไซต์ (Al2O3) มีค่าความแข็งประมาณ 9 ค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 3.80-4.05 ซึ่งถ้าหากพูดถึง “Sapphire (แซปไฟร์)” คำเดียวจะหมายถึง “Blue Sapphire” หรือ “ไพลิน” นั่นเอง เพราะคำว่า “Sapphire” มาจากภาษาเปอร์เชีย “Saffir” หรือจากภาษากรีก “Sappheiros” แปลว่า ผู้เป็นที่รักของ Saturn (เทพเจ้าแห่งกรีก) และหมายถึงสีน้ำเงิน (Blue) ซึ่งสมัยโบราณ จะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่า “Sapphire” ส่วนคำว่า “ไพลิน” มาจากชื่อเมืองที่เป็นแหล่งของคอรันดัมสีน้ำเงิน อยู่ทางตะวันตกของประเทศกัมพูชา และอยู่ทางด้านทิศเหนือของทิวเขาบรรทัดติดชายแดนประเทศไทย ซึ่งแหล่งไพลินที่สำคัญๆ ของโลก ได้แก่ พม่า ศรีลังกา มาดากัสการ์ ไทย กัมพูชา ออสเตรเลีย แทนซาเนีย เวียดนาม ไนจีเรีย อินเดีย จีน และอเมริกา
ในประเทศไทยแต่เดิมนั้นแร่คอรันดัม สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน และสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีแดง จะเรียกว่า “นิลกาฬ” หรือ “นิล” เป็นคำดั้งเดิมที่คนไทยในสมัยก่อนทางจันทบุรีเรียกพลอยคอรันดัมทุกสีว่า นิล เช่น นิลสีฟ้า นิลสีเขียว นิลสีเหลือง (นิลสีฟ้า หรือสีน้ำเงินที่ไม่มีสีอื่นปนเรียกว่า ไพลิน และนิลสีเขียวใบไม้เรียกว่า เขียวบางกะจะ) ยกเว้น สีแดง จะเรียกว่า พลอยแดง ส่วนทางกาญจนบุรี เรียกแร่คอรันดัมตามสี เช่น พลอยน้ำเงิน พลอยเหลือง หรือพลอยน้ำบุษร์ แต่ความจริงแล้วพลอยคอรันดัมประเภท Sapphire นั้นมีได้หลากหลายสี เช่น สีเหลือง สีชมพู สีม่วง สีเขียว เป็นต้น ดังนั้นเมื่อต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุ “สี” ลงไปด้วย เช่น Yellow Sapphire (บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (แซปไฟร์สีชมพู) เป็นต้น ในปัจจุบันไพลินส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าการเผา เพื่อให้สีที่สวยขึ้นและได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอยเพราะการเผาจะทำให้สีดีของไพลินดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร นอกจากนี้ ไพลินยังนิยมเจียระไนเป็นแบบเหลี่ยมผสม เพื่อช่วยให้รักษาน้ำหนักพลอยไว้ให้ได้มากที่สุด และจะทำให้สีของพลอยดูดียิ่งขึ้นและมีประกายไฟที่สวยมากขึ้นอีกด้วย
“ไพลิน” สุดยอดอัญมณี “สีน้ำเงิน”
“สี” ของอัญมณีเป็นคุณสมบัติแรกที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและใช้ในการพิจารณาคุณภาพ ความสวยงาม และมูลค่าของอัญมณี ซึ่งอัญมณีที่มีสีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้อัญมณีชนิดนั้นๆ มีมูลค่าที่แตกต่างกันหลายเท่าตัว
Royal Blue (รอยัลบลู) สีน้ำเงินเข้มเจือสีม่วงอ่อนๆ เมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟสีจะจางลงเล็กน้อยคล้ายกับสีน้ำหมึกบริสุทธิ์ มีโทนสีที่สดใสมาก สีสม่ำเสมอทั่วหน้าพลอย โดยมีช่วงสีตามระบบสีมันเซลล์อยู่ที่ 6.25 PB และมีระดับความสว่างอยู่ที่ 2.5-3 มีความอิ่มตัวของสีมากกว่าหรือเท่ากับ 10 ไม่สามารถเห็นมลทินในไพลินได้ด้วยตาเปล่า เป็นสีที่หายาก มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด

Cornflower Blue (คอร์นฟลาวเวอร์บลู) สีน้ำเงินคล้ายกำมะหยี่ที่ดูนุ่มนวล คล้ายมีหมอกบางๆ อยู่ในเนื้อพลอย เป็นสีน้ำเงินอมม่วงเล็กน้อยคล้ายกับสีของดอกคอร์นฟลาวเวอร์ โดยมีช่วงสีตามระบบสีมันเซลล์อยู่ที่ 6.25-7.5 PB และมีระดับความสว่างอยู่ที่ 2.5-3.5 มีความอิ่มตัวของสีมากกว่าหรือเท่ากับ 10 และสามารถเห็นแถบสีได้อย่างชัดเจน ไพลินสีนี้จะมีสีสดใสน้อยกว่าไพลินสีรอยัลบลู แต่ความสว่างของพลอยทั้งเม็ดจะมีมากกว่าและสีค่อนข้างสม่ำเสมอทั่วหน้าพลอย เป็นสีที่หายากกว่าสีรอยัลบลู และมีราคาสูง ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด

“ไพลิน” ที่มีชื่อเสียงของโลก
Star of India (สตาร์ ออฟ อินเดีย) เป็นไพลินสตาร์ สีน้ำเงินอมเทา น้ำหนัก 563.35 กะรัต (112.67 กรัม) ขุดพบในศรีลังกา เป็นหนึ่งในอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพลอยสตาร์ที่มีคุณภาพดีเกือบจะไร้ที่ติ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (The American Museum of Natural History) ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

Star of Asia (สตาร์ ออฟ เอเชีย) ไพลินสตาร์ สีน้ำเงินสดเข้มสดใส ดาวที่คมชัด น้ำหนัก 330 กะรัต (66 กรัม) ขุดพบศรีลังกา เป็นหนึ่งในพลอยสตาร์ที่สวยที่สุดของโลก และว่ากันว่าเป็นของมหาราชาแห่งจ๊อดปูร์ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติสมิธโซเนียน (Smithsonian National Museum of Natural History) ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

การเลือกซื้อ “ไพลิน” ต้องดูอะไรบ้าง?
น้ำหนัก (Carat Weight) นํ้าหนักของไพลินถูกวัดเป็นกะรัต โดย น้ำหนัก 1 กะรัต เท่ากับ 0.2 กรัม ไพลินเม็ดยิ่งใหญ่และมีน้ำหนักมาก ยิ่งหาได้ยาก
การเจียระไน (Cut) ไพลินนิยมเจียระไนเป็นแบบเหลี่ยมผสม เพื่อช่วยให้รักษาน้ำหนักพลอยไว้ให้ได้มากที่สุด และจะทำให้สีของพลอยดูดียิ่งขึ้นและมีประกายไฟที่สวยมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งไพลินที่ดีควรมีการเจียระไนได้สัดส่วนที่ถูกต้อง โดยต้องเจียระไนที่ทำให้ด้านหน้าพลอยมีสีสวยที่สุด คือ ให้มองเห็นเป็นสีน้ำเงินแกมม่วงหรือน้ำเงินสด ไม่ใช่สีน้ำเงินแกมเขียว สัดส่วนต้องมีความสมมาตร ไม่บิดเบี้ยว เหลี่ยมคมชัด สวยงาม แต่ละหน้าเหลี่ยมมีรูปร่างพอดี เพื่อให้พลอยมีประกายไฟดี
สี (Color) เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล สำหรับสีน้ำเงินที่จัดว่ามีคุณภาพดีและสวยที่สุดของไพลินนั้นก็คือ สีน้ำเงินแกมม่วงเล็กน้อย หรือสีน้ำเงินสดคล้ายสีของดอกอัญชัน ที่มีโทนสีปานกลาง ไม่มืดจนเกินไป ซึ่งเป็นสีที่มีลักษณะนุ่มนวลคล้ายกำมะหยี่ สดใส มีประกายแวววาว สีมีความสม่ำเสมอ และมีความสวยงามเมื่ออยู่ใต้แสงไฟ ไม่ควรเลือกไพลินที่มีโทนสว่างเกินไปหรือมีสีน้ำเงินอ่อนคล้ายสีฟ้า เพราะจะดูไม่สวยสดเหมือนไพลินที่มีสีเข็มกว่า โดยแสงไฟที่ใช้ดูไพลินควรเป็นแสงมาตรฐาน 6,500 เคลวิน
ความใสสะอาด (Clarity) โดยทั่วไปไพลินมักมีตำหนิหรือมลทิน (Inclusion) ที่มองเห็นได้ หากไพลินมีมลทินอยู่ภายในเนื้อ ก็อาจจะตั้งข้อสันนิฐานเบื้องต้นได้ว่าเป็นไพลินแท้ แต่อย่างไรก็ตามต้องต้องแยกให้ออกว่ามลทินที่พบนั้นเป็นมลทินธรรมชาติหรือมลทินสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งต้องดูด้วยแว่นขยาย 10 เท่า หรือกล้องจุลทรรศน์โดยผู้ที่มีความชำนาญถึงจะสามารถแยกความแตกต่างของมลทินธรรมชาติหรือมลทินที่สังเคราะห์ขึ้นได้ ไพลินที่สวยและใสสะอาดไร้มลทินนั้นหายากมาก และมักจะมีราคาสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อไพลินที่ใสสะอาดไร้มลทินโดยสิ้นเชิง เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นไพลินสังเคราะห์
ความโปร่งใส (Transparency) เป็นการอ้างอิงถึงความสามารถของไพลินในการถ่ายทอดเเสง ซี่งเป็นผลจากตัวพลอยที่ไม่ทึบเเสงเเละมีประกายไฟเจิดจรัส แบ่งออกเป็น โปร่งใส โปร่งแสง และทึบแสง
การปรับปรุงคุณภาพ “ไพลิน”
ในปัจจุบันไพลินส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน หรือที่เราเรียกกันว่า “การเผา” เพื่อให้ได้สีที่สวยขึ้นและได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอยเพราะการเผาจะทำให้สีดีของไพลินดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร
การดูแลรักษา “ไพลิน” และข้อควรระวัง
- ควรเก็บเครื่องประดับ “ไพลิน” แยกในถุงผ้าขนาดเล็กหรือกล่องที่มีผ้านุ่มๆ รอง ไม่ควรเก็บไว้รวมกับอัญมณีชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการขูดขีดกันเองจนเป็นรอย
- ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับไพลิน ขณะทำกิจกรรมที่เสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสี่ยงต่อความคงทนสวยงาม เช่น ทำสวน ทำความสะอาดบ้าน ประกอบอาหาร เพราะอาจจะมีสิ่งสกปรก น้ำยา หรือสารเคมีต่างๆ มาเกาะติดบนผิวของไพลิน ทำให้หมองและความวาวลดลงได้ หรือการกระทบกระแทกกับสิ่งต่างๆ เช่น ของมีคม อาจทำให้พลอยบิ่นหรือแตกร้าวได้
- ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างเครื่องประดับหรือสบู่เหลวอ่อนๆ ผสมน้ำ ปัดทำความสะอาดด้วยแปรงขนนุ่ม หรือใช้เครื่องทำความสะอาดแบบอัลตราโซนิก
หากใครที่ชื่นชอบให้เรื่องราวของอัญมณี ไม่ว่าจะเป็นทับทิบ ไพลิน เพชร และอัญมณีชนิดอื่นๆ อีกมากมาย หรือต้องการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการออกแบบเครื่องประดับแล้วละก็ต้องไม่พลาดที่จะเข้ามาที่ “ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ” ที่มีหนังสือและวารสารอีกมากมายที่เกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับอีกมากมายไว้ให้บริการ สามารถสามารถสืบค้นหนังสือ วาสาร และนิตยสารทั้งหมดได้ที่ https://elibrary.git.or.th หรือ https://opac.git.or.th/Search_Basic.aspx
พิกัด: ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม
URL อ้างอิง: https://elibrary.git.or.th/news/detail/73